หมู่บ้าน เป็นรูปแบบการปกครองลักษณะปกครองท้องที่ นับเป็นเขตการปกครองขนาดเล็กที่สุดของประเทศไทย โดยแบ่งย่อยออกจากตำบลอีกทีหนึ่ง จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีหมู่บ้าน 74,956 หมู่บ้าน และจากข้อมูลสำมะโนประชากรเมื่อปี พ.ศ. 2533 แต่ละหมู่บ้านมีประชากรโดยเฉลี่ย 144 ครัวเรือน หรือ 746 คน หมู่บ้านไม่จำเป็นจะต้องครอบคลุมถิ่นฐานหนึ่งทั้งหมดก็ได้ ชุมชนขนาดใหญ่สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายหมู่บ้าน ขณะที่ชุมชนขนาดเล็กสามารถรวมเข้าด้วยกันเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ๆ ได้ คำว่า "หมู่บ้าน" มักจะถูกย่อเหลือเป็น "บ้าน" ในชื่อหมู่บ้าน
ในการปกครองหมู่บ้าน จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 โดยกำหนดให้หมู่บ้าน มี ผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ปกครองหมู่บ้าน และมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านจะถูกเลือกขึ้นมาจากประชากรในหมู่บ้านนั้น แล้วจึงได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอท้องที่ ผู้ใหญ่บ้านมีผู้ช่วยสองคน คนหนึ่งรับผิดชอบกิจการของรัฐและอีกคนหนึ่งรับผิดชอบกิจการความมั่นคง นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่ได้รับเลือกจากสมาชิกในหมู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของหมู่บ้านนั้น ซึ่งตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านนั้นจะยกเลิกมิได้
ในอดีตไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 ได้กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ และอายุไม่เกิน 60 ปี จากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ใหญ่บ้านอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2525 โดยกำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมีอายุ 25 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปี กระทั่งในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน โดยกำหนดเพิ่มเติมในมาตรา 6 (1 ทวิ) ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีวาระการดำรตำแหน่งคราวละ 5 ปี แต่ในปี พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับปรุงวาระการดำรงตำแหน่งอีกครั้ง โดยยกเลิกวาระ 5 ปี แต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นการประเมินทุก 5 ปีแทน